กลุ่มอุตสาหกรรม พลังงานหมุนเวียน

Published

19 กรกฎาคม 2563

พิษโควิด-19 ทำยอดใช้พลังงานโลกหดตัวสูงสุดในรอบ 70 ปี นับตั้งแต่วิกฤติเศรษฐกิจโลกในปี 2473 โดยยอดใช้ไฟฟ้าโลกหดตัว 5% ส่วนของไทยลดลง 3.8% กระทรวงพลังงานเตรียมรื้อแผนพลังงานหลักของประเทศใหม่หมด นำร่องด้วยแผนพีดีพี 2021

นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ขณะนี้กระทรวงพลังงานอยู่ระหว่างติดตามสถานการณ์ตลาดโลกอย่างใกล้ชิดถึงการใช้พลังงานภาพรวมในปี 2563 หลังได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ที่ทำให้การใช้น้ำมันและไฟฟ้าลดลง โดยสำนักงานพลังงานสากล (EIA) ประเมินว่า การใช้พลังงานของโลกปีนี้ จะลดลงมากที่สุดในรอบ 70 ปี รวมถึงหากมีการระบาดของโควิด-19 รอบใหม่ ก็อาจกระทบต่อการใช้พลังงานได้อีก ประเทศไทยจึงต้องเตรียมพร้อมสำหรับการปรับแผนพลังงานของประเทศเช่นกัน โดยเฉพาะแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศระยะยาว 20 ปีฉบับใหม่ (ร่างพีดีพี-2021) ที่อาจต้องปรับปรุงภายในไตรมาส 4 ของปีนี้

ทั้งนี้ EIA ได้ประเมินว่าการใช้น้ำมันของโลกจะยังไม่เข้าสู่สภาวะปกติในปีนี้ โดยการใช้ไฟฟ้าของโลกหดตัวลง 5% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา เป็นสถิติที่สูงที่สุดตั้งแต่วิกฤติเศรษฐกิจโลกเมื่อปี 2473 เช่นเดียวกับประเทศไทย ที่ลดลงหนักเช่นกัน กล่าวคือ 5 เดือนแรกของปี (ม.ค.-พ.ค.) การใช้น้ำมันลดลง 13.4% ไฟฟ้าลดลง 3.8%

“กระทรวงจึงต้องกำลังตัวเลขดังกล่าวอย่างใกล้ชิด เพื่อปรับแผนพลังงานให้สอดรับกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป ทั้งการทบทวนแผนพีดีพีฉบับใหม่และอีก 4 แผนพลังงานหลักของประเทศ อาทิ แผนอนุรักษ์พลังงาน โดยจะทบทวนแผนทั้งหมดภายในไตรมาส 1 ปี 2564”

นายพัฒนา แสงศรีโรจน์ โฆษกการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวว่า การจะปรับแผนพีดีพีหรือไม่อย่างไรนั้น ขึ้นอยู่กับนโยบายรัฐบาลเป็นสำคัญ ซึ่งตามหลักการแล้วการใช้ไฟฟ้าที่ลดลงเพราะได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ที่มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ทำให้แผนการใช้พลังงานที่กำหนดไว้เปลี่ยนไป ซึ่งรวมไปถึงการสำรองไฟฟ้าที่จะสูงขึ้น จึงต้องปรับแผนเพื่อบริหารจัดการโรงไฟฟ้า เช่น การเลื่อนจ่ายไฟฟ้า เป็นต้น

ด้านนายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.)กล่าวว่า ผลกระทบของ โควิด-19 ที่เกิดขึ้น ทำให้การใช้พลังงานลดลง เช่นเดียวกับราคาพลังงานที่มีทิศทางปรับลดลงเช่นกัน จากการบริโภคที่ลดต่ำ โดยเฉพาะก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) ทำให้ราคาก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทยและเมียนมาลดตามไปด้วย จึงเป็นเรื่องที่ดี เพราะจะนำไปสู่การใช้เชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าให้ลดลงในรอบ 4 เดือนสุดท้ายของปีนี้

นายวุฒิกร สติฐิต รองกรรมการผู้จัดการใหญ่หน่วยธุรกิจก๊าซธรรมชาติ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ปตท.ได้จัดหาและนำเข้าแอลเอ็นจี ในรูปแบบตลาดจร (Spot) หรือ Spot LNG แล้วจำนวน 7 ลำเรือ เพื่อส่งมอบกลางปีนี้ ราคาเฉลี่ย 2.48 เหรียญสหรัฐฯ/ล้านบีทียู คาดว่าจะช่วยลดต้นทุนค่าก๊าซธรรมชาติในการผลิตไฟฟ้าได้ 2,600 ล้านบาท และลดค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (เอฟที) ได้ 2,000 ล้านบาท หรือคิดเป็นเอฟที ลดลง 1.04 สตางค์ต่อหน่วย

น.ส.นันธิกา ทังสุพานิช อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน (ธพ.) กล่าวถึงทิศทางน้ำมันว่า กรมฯได้กำหนดแผนที่จะลดชนิดน้ำมันลงในกลุ่มของเบนซิน ตามแผนบริหารจัดการเชื้อเพลิง (Oil Plan-2018) จากเดิมกำหนดที่จะประกาศให้น้ำมันแก๊สโซฮอล์ อี 20 เป็นน้ำมันพื้นฐานของประเทศไทยใน วันที่ 1 ต.ค.2563 แต่โควิด-19 ทำให้ปริมาณเอทานอล ส่วนประกอบสำคัญของน้ำมันอี 20 ต้องถูกจัดสรรไปใช้ในการทำความสะอาดเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดโควิด-19 จึงเลื่อนแผนดังกล่าวออกไปอีก 9 เดือนหรือเลื่อนไปกลางปีหน้า

นอกจากนั้น กระทรวงพลังงานจะเสนอในที่ประชุมคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ วันที่ 20 ก.ค.นี้ เพื่อขอปรับแผนประกาศใช้น้ำมันมาตรฐานยุโรประดับที่ 5 (EURO5) จากเดิมจะประกาศใช้ วันที่ 1 ม.ค.2567 เป็นวันที่ 1 ม.ค.2568 เนื่องมาจากกลุ่มโรงกลั่นน้ำมัน ได้เสนอว่าผลกระทบจากการล็อกดาวน์ เพื่อสกัดกั้นไวรัสโควิด-19 มีการปิดสนามบิน ทำให้ผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศ ไม่สามารถเดินทางเข้ามาตรวจงานปรับปรุงโรงกลั่นของประเทศไทยได้ ทั้งนี้แผนงานดังกล่าวจะทำให้การลงทุนของทุกโรงกลั่น คิดเป็นมูลค่ารวม 50,000 ล้านบาท.

Source : ไทยรัฐ